“ป๊อกบา” คือ ตัวแปร vs. “มาตรฐาน” เมสซี่

1.
นับตั้งแต่ย้ายทีมด้วยค่าตัว “สถิติโลก” เครื่องหมายคำถามยังคง “ประทับ” แปะบนกบาล พอล ป๊อกบา ว่า ความสามารถที่ “แท้ทรู” เมื่อไหร่จะถูกเค้นออกมา?
ค่าหัว 90 ล้านปอนด์ ปั้นโดย โจเซ่ มูรินโญ่ และดิดิเยร์ เดอชองป์ส ทดลองแล้วกับระบบ 4-2-3-1 หรือ 4-3-3อันเป็นระบบหลักของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และทีมชาติฝรั่งเศส
แต่สิ่งที่ดีที่สุด ได้รับกลับมา คือ ผลงานขึ้น ๆ ลง ๆ
จะดีก็ดีไม่สุด หรือไม่สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะในเกม 90 นาที หรือวัดกันนัดต่อนัด
หากเพียงแค่ ดาวเตะวัย 25 ปีจะเล่นได้เยี่ยม “เต็มเกม”
หรือทำได้ดีต่อเนื่องติดต่อกันหลาย ๆ นัด
เฉพาะอย่างยิ่งตอนเจอ “บิ๊กทีม”
นั่นแหละ ผู้คนจึงจะ “ยอมรับ” และเปิดวงแขนต้อนรับ ป๊อกบา เป็นยอดนักเตะระดับโลกตัวจริงที่สามารถ “เติมเต็ม” ศักยภาพในตัวเองได้
หาไม่แล้ว กองกลางร่างสูง 191 เซนติเมตรจะเป็นได้เพียง “ลมพัด”
วูบมาก็เย็น ไม่พัดมาก็สงบนิ่ง
เอาแน่เอานอนไม่ได้ตามอารมณ์ อำเภอใจ พร้อม ๆ กับ “ภาพจำ” เหมือนเด็กไม่โตในสนาม
…กับระบบกองกลาง 3 ตัวของเดอชองป์สในเกมรอบ 16 ทีมสุดท้ายปะทะอาร์เจนติน่า ผมมองว่า กองเต้ เป็นตัวรับ “ตัวยืน” ขณะที่อีกคนจะเป็น โตลิสโซ่ (ตัวรับอีกตัว) ไม่ได้
เพราะนั่นจะเหมือนเกมแรกกับออสเตรเลีย ที่ป๊อกบา ไม่น่าจะเหมาะสมกับการทำหน้าที่ตัวรุก
เค้าน่าจะทำหน้าที่เหมือน เปาลินโญ่ ในทีมบราซิล (ไม่เน้นรับมาก และพุ่งเติมได้เป็นระยะ ๆ), กองเต้ ทำหน้าที่เหมือนคาเซมิโร่ คือ เน้นรับ
ขณะที่อีกคนควรทำหน้าที่รุกเต็มตัวเหมือน คูตินโญ่ ทว่า ณ ตอนนี้คงลำบาก (ที่จะใช้ เลอมาร์, เฟคีร์) เพราะเดอชองป์ส ไม่ได้เลือกหนทางนั้นมาแต่แรก แต่จะ “เพลย์เซฟ” หน่อย เช่น ใช้ มาตุยดี้ ในเกมชนะเปรู 1-0
ซึ่งก็พอได้อยู่ และมีแนวโน้มจะใช้แผงกลางชุดดังกล่าว:กองเต้, ป๊อกบา และมาตุยดี้ ในเกมนี้กับอาร์เจนติน่า
รวมความแล้ว มัน “ไม่ง่าย” กับฝรั่งเศส และป๊อกบา ในเกมกับทัพฟ้าขาว ที่นำทัพโดย ลิโอเนล เมสซี่
แต่หากทีมน้ำหอมจะทำได้ดี ผลงาน “ป๊อกบา” นี่แหละจะเป็นกุญแจสำคัญ เพราะเพื่อนร่วมทีมดูนิ่ง “สม่ำเสมอ” พร้อมรอโชว์ฟอร์มอยู่แล้ว
—
2.
ชัยชนะเหนือ ไนจีเรีย 2-1 โดย ลิโอเนล เมสซี่ “เบิกร่อง” ประตูแรกของตนเองในทัวร์นาเมนท์ได้สำเร็จมี “ภาพจำ” อย่างน้อย 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นครับ:
1.ภาพ “ดีใจ” ในชัยชนะไม่ว่าจะหลังจาก มาร์กอส โรโฮ ยิงประตูนาทีที่ 86 หรือหลังจบเกมที่ทราบผลว่า พวกเค้าเข้ารอบตามโครเอเชียที่ชนะรวด 3 นัดได้สำเร็จ
ดีใจประหนึ่งได้ “แชมป์โลก” สมัยที่ 3!?
ครับ มันคือ “ชัยชนะ” นัดสำคัญทั้งส่วนตัวเมสซี่ ที่เล่นได้ดีขึ้น และทำประตูได้
หรือทีมชาติฟ้าขาวที่สามารถใช้คำว่า “ปลุกผี” คืนชีพขึ้นมาเข้ารอบได้สำเร็จ
ทว่า ทีมระดับอาร์เจนติน่า ไม่ควรยินดีปรีดา หรือพออกพอใจกับเพียงแค่ชัยชนะนัดนี้
โดย “หลงลืม” ปัญหาตั้งแต่รอบคัดเลือกที่กว่าจะเข้ารอบมาเป็น 1 ใน 32 ทีมสุดท้ายได้ก็ต้องรอลุ้นจนแมตช์สุดท้ายรอบคัดเลือก
อุ่นเครื่องก็ไม่ “เข้าตา” ก่อนมารัสเซีย
ประเด็น คือ ซัมเปาลี ยังแก้ปัญหาระบบวิธีการเล่นของทีมไม่ได้กระทั่งเข้าสู่นัดที่1,2 และ 3 รอบแรกบอลโลก 2018
ระบบการเล่นเปลี่ยนทุกนัดจาก 4-2-3-1 (เมสซี่ อยู่หัวบนสุดตรง “3”), 3-4-3 (เมสซี่ อยู่ริมขวาของ “3” บน) กระทั่งถึง 4-4-2 (เมสซี่อยู่ “2” คู่กับฮิกัวอิน)
แล้วนัดนี้กับฝรั่งเศสล่ะ จะเล่นระบบอะไร?
- อันนำสู่ “ภาพจำ” ที่ 2 ฤา กุนซือชิลีต้องถามเมสซี่?
เหมือน “ภาพข่าวดัง” ทั่วโลกตอนเตรียมเปลี่ยนตัว กุน อเกวโร่ ลงสนามในครึ่งหลังเกมกับไนจีเรีย
หรือภาพเมสซี่ “บรีฟ” เพื่อน ๆ ตอนก่อนลงสนามครึ่งหลังในเวลาที่ซัมเปาลี เดินผ่านไปแล้วที่ภายหลังระบุว่า กัปตันทีมฟ้าขาวบอกให้เพื่อน ๆ ยิงทุกโอกาสที่มี
อันเป็นเหตุให้เห็น โรโฮ ยิงด้วยขวาในกรอบเขตโทษทั้งที่ตัวเองเล่นเซนเตอร์ฮาล์ฟ!
ครับ ระบบ คือ เรื่องหนึ่งที่สำคัญที่ผมชอบระบบแรกเหมือนเกมไอซ์แลนด์ เพราะจะเป็นฟอร์เมชั่นที่เมสซี่จะได้บอลมากที่สุด
เพียงแต่ เมสซี่ อย่าลงมาล้วงบอลต่ำมากเหมือนตอนเจอไอซ์แลนด์เท่านั้นเอง
ถัดมา คือ คำถามว่า “มาตรฐาน” อะไรที่เมสซี่ต้องเล่นให้ได้ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน และทีมฟังก์ชั่นไม่สมบูรณ์แบบที่เห็น ๆ กันมาโดยตลอด
คำตอบ คือ ต้องเล่น “เลเวล” เดียวกับมาราโดน่า ในบอลโลก 1986
หรือซีดาน ในแมตช์ควอเตอร์ไฟนอลกับบราซิล ในบอลโลก 2006
โดยให้ลืมไปเลยว่า “รอบข้าง” อาร์เจนฯ ไม่เหมือนบาร์ซ่า
เพราะจริง ๆ ทีมชุดนี้ของฟ้าขาว โดยเฉพาะเกมรุกก็ไม่ใช่ “ขี้ไก่” ที่เมสซี่จะเหมือนหัวเดียวกระเทียมลีบ
“มาตรฐาน” ที่ว่านี้ คุณว่า เมสซี่จะทำได้ไหมครับ?