วิเคราะห์เกม Counter attack ของเม็กซิโก

ผมตื่นเช้าเข้ามาดู Re-run เกม เยอรมัน-เม็กซิโก อีกรอบ ด้วยยังไม่กล้าสรุปว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อ 4 ทุ่มที่ผ่านมา
อีกแล้ว! ที่เยอรมันตายง่าย ๆ ให้แก่เม็กซิโก ซ้ำรอยที่เคยพ่ายให้แก่ อัลจีเรีย ในบอลโลก 1982 มาครั้งหนึ่งแล้ว
ทีนี้ลองมาดูกันครับว่า เม็กซิโกทำอะไรกับทีมตัวเองบ้างจนนำมาซึ่งผลการแข่งขันสุด “พลิกล็อก” ในเกมนี้
กลวิธีง่าย ๆ ภายใต้ Concept ของการ Counter attack พื้น ๆ แต่มีความล้ำลึกจนต้องนำมาเป็นกรณีศึกษา คือสิ่งที่ทีมจังโก้นำมาใช้ในแมตช์นี้
จะสังเกตได้ว่าเม็กซิโกวางกำลังตั้งรับไว้เพียง 8 คน ซึ่งผิดกับชาวบ้านที่ลงมาตั้งรับกัน 9 – 10 คน เขาทิ้ง Hernandez (14) และ Guadado (18) ไว้บนสุดใกล้เส้นครึ่งสนาม
ลูกที่ได้ประตูเริ่มจาก Moreno (15) ตัดบอลได้จากหน้าบ้านตัวเองลากลูกส่งต่อให้ Hernandez ที่ปาดลูกให้ Guadado ซึ่งอยู่ไกล้พร้อมกับพุ่งตัวเองขึ้นไปรับลูกจาก Guadado อีกที
Hernanadez หรือชิชาร์ริโต้ลากลูกเข้าไปเพื่อรอหาจังหวะส่งให้กับเพื่อนที่พุ่งขึ้นมาช่วย และเป็นเวลาเดียวกับที่ผู้เล่นที่มีความเร็วที่สุดในทีมอย่าง Lozano พุ่งเข้าพื้นที่ Half Space พอดี
โศกนาฏกรรมก็บังเกิดขึ้นแก่เยอรมันในวินาทีนั้น!!!
นี่ยังดีที่เยอรมันไม่เสียประตูเพิ่มจากการทำCounter attack ของเม็กซิโกอีกสองสามลูก
พอจะพูดได้ว่านี่เป็นอีกวิวัฒนาการรูปแบบหนึ่งของการทำ Counter attack
เพราะไม่เพียงแต่ทำ Counter attack เท่านั้น การเล่น Transition Play ก็ทำได้อย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการรุกมาสู่รับ และเปลี่ยนรับสู่รุก ก็ได้ใช้ทุกแท็คติกที่เป็นองค์ประกอบอย่างพอดิบพอดี
ทั้งนี้ยังไม่นับรวมความแข็งแกร่ง ความคล่องตัว และทรหดอดทนที่สามารถรับมือผู้เล่นของเยอรมันที่ถือว่าเป็นหนึ่งในเรื่องของสมรรถภาพทางกาย ที่น่าแปลกใจก็คือเยอรมันใช้ลูกกลางอากาศน้อยมาก มาทุ่มอยู่กับการทะลุทะลวงทางภาคพื้นดินเป็นส่วนใหญ่ เม็กซิโกก็เลยรับมือได้สบาย
มาสังเกตชัด ๆ ตอนหลังจาก 80 นาทีว่า เยอรมันเปลี่ยนเกมรุกลงมา แม็กซิโกก็ยังทิ้งกองหน้าไว้ 2 ตัวทำ Counter attack และจริง ๆ เยอรมันน่าจะโดนมากกว่า 1 ลูกนะครับในความคิดผม
—
ฟอร์มของโอซิล และแดร็กซ์เลอร์
ทั้งคู่รองเท้าไม่ค่อยไม่เปื้อนเลย น่าเสียดายที่ทั้งสองควรมีบทบาทในการสร้างสรรเกมด้วยตำแหน่งที่เขาแบกอยู่มันคือ Second Striker (Ozil) แต่เขาเลือกที่จะลงต่ำไปควักลูกมาจ่ายให้คนอื่น position ก็เลยพาให้เขากลายเป็นคนจ่ายมากกว่าคนทะลุไปทำประตู
ส่วน Draxler น่าจะสร้างความปั่นป่วน แนวรับทางด้านขวาของ Mexico ได้ดีกว่านี้ ต่อไปในแมทช์ที่ยาก ๆ อาจจะไม่ได้เห็นเขาลงสนามเป็น First eleven อีกก็เป็นได้
—
ปัญหาของกองหน้าเยอรมัน
มีปัญหาแน่นอน เพราะเมื่อก่อน ๆ แท็คติกเป็นการผสมผสานระหว่าง Direct (ยาว) สลับสั้น (Indirect) เป็น Solution ที่Bayern Munich ใช้ได้ผล แต่เมื่อแปลงร่างเป็นทีมชาติ จุดเด่นก็หาไม่เจอ จะโยนก็ไม่โยน จะเจาะด้วยลูกบนพื้นก็งุ่มง่ามกระโดกกระเดก ไม่เป็นธรรมชาติ ส่วนการจบสกอร์ด้วยการยิงประตูมากมายถึงมากกว่า 24 ครั้ง ถือว่าอ่อนมากในเรื่องเทคนิค เพราะลูกส่วนใหญ่ออกข้าง ข้ามคาน ทั้ง ๆ ที่เม็กซิโกมิได้ระดมคนมาไว้หน้าบ้านกันมากมายพวกเขาก็ยังเจาะกันไม่เป็น
อาจเป็นเพราะการเข้าสกัดของเม็กซิโกเต็มไปด้วยความคล่องแคล่ว รวดเร็ว มากกว่า จึงเป็นทั้งการเข้าทำลายและปิดที่ว่างได้ฉับไวรวดเร็ว
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน เยอรมันอุ่นเครื่องกับซาอุดีอาระเบีย รูปเกมก็เป็นอย่างนี้ ยิงทิ้งยิงขว้าง การประสานงานขาด ๆ เกิน ๆ แต่ยังเอาชนะซาอุฯได้ 2-1 เท่านั้น
ฉะนั้น “สัญญาณ” มันมีเตือนมาก่อน ไม่ใช่เพิ่งจะมามีขึ้นในนัดนี้