เข้ารอบแบบนี้ได้ด้วยเหรอ ?

ในบรรดา 16 ชาติที่หลุดรอดมาถึงรอบน็อกเอาท์ในศึกรัสเซีย 2018 ไม่มีทีมไหนล้อเล่นกับความตาย แหย่เท้าเฉียดนรกมากเท่ากับญี่ปุ่น
เข้ารอบโดยใช้การกติกาแฟร์เพลย์ คำนวนจากสถิติใบเหลือง-ใบแดง ปรากฏว่าดีกว่าคู่แข่งอย่างเซเนกัล
ฟีฟ่า มีวิธีการคำนวนหาทีมเข้ารอบ เรียงตามลำดับถึง 8 ข้อ ไล่จากแต้ม, ผลต่างประตูได้เสีย, ประตูได้, เฮดทูเฮด ฯลฯ
ปรากฏว่าญี่ปุ่น ต้องงัดกติกาถึงข้อรองสุดท้ายเพื่อชี้ขาด
เหลืออย่างเดียวที่ไม่ได้เอามาใช้ คือจับฉลากวัดดวงกับทีมจากแอฟริกา
แน่นอนว่าการเข้ารอบผ่านทางประตูพิเศษแบบนี้ จะต้องถูกบันทึกลงพงศาวดารความแปลกในเวทีฟุตบอลโลก และขอบอกว่าแปลกกว่าญี่ปุ่น ก็ยังมีอีกหลายเคสหลายครั้ง
แม้แต่การจับฉลากในเวิลด์ คัพ รอบสุดท้าย เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอิตาเลีย 1990 กลุ่มแห่งความง่วงนอนที่มีทีมอย่างอังกฤษ, ฮอลแลนด์,ไอร์แลนด์ และอียิปต์ ปรากฏว่าลงเอยด้วยผลเสมอถึง 5 จาก 6 แมตช์ในกลุ่มนี้
นัดเดียวที่มีผลแพ้ชนะคืออังกฤษ เฉือนอียิปต์ 1-0 และนั่นทำให้สิงโตคำรามผ่านเข้ารอบในฐานะแชมป์กลุ่ม
ส่วนฮอลแลนด์ กับไอร์แลนด์ มีผลเดียวกันทุกอย่าง เสมอสามนัดรวด ยิง 2 เสีย 2 เจอกันก็เจ๊า 1-1
โชคดี ฟุตบอลโลกยุคนั้นยังประกอบด้วย 24 ทีม ฉะนั้่นนอกจากอันดับ 1-2 ได้เข้ารอบ อันดับสามก็มีสิทธิ์ตีตั๋วอีก 4 ทีมจาก 6 กลุ่ม
สามแต้มของทั้งฮอลแลนด์ กับไอร์แลนด์ ดีพอจะผ่านเข้ารอบ การจับฉลากจึงไม่ใช่เพื่อส่งทีมหนึ่งทีมใดกลับบ้าน แต่เลือกว่าใครจะเข้าป้ายเบอร์สองหรืออันดับสาม
หวยไปออกที่ไอร์แลนด์ ได้รองแชมป์กลุ่ม พร้อมกับคู่แข่งเบากว่าอย่างโรมาเนีย ในรอบถัดไป
ผิดกับฮอลแลนด์ โควตาอันดับสามส่งพวกเขาไปเจอทีมเต็งระดับเยอรมันตะวันตก และผลที่สุดก็แพ้ไป 1-2
ในยุคต้นของฟุตบอลโลก โปรแกรมเตะยังไม่ชุกแน่นเอี๊ยดเท่าสมัยนี้ จึงมักเห็นกติกาที่นักเตะต้องเหนื่อยต่ออย่างการเพลย์ออฟ, รีแมตช์แข่งใหม่ เป็นเรื่องปกติ
แต่ที่แปลกก็คือแม้แต่เกมรอบแบ่งกลุ่ม ก็เคยมีการต่อเวลาพิเศษในปี 1954 ระหว่างบราซิลกับยูโกสลาเวีย และอังกฤษ กับเบลเยี่ยม
ยุคนั้น การเสมอในเวลาปกติถือเป็นเรื่องต้องห้าม แต่สุดท้าย ทั้งสองคู่ก็ยังลงเอยด้วยผลเสมออยู่ดีหลังสู้กันในช่วงต่อเวลา
แปลกว่านี้เห็นจะเป็นการเคยใช้กติกาGoal average ก่อนยุคที่เปลี่ยนมาเป็น Goal difference อย่างในปัจจุบัน
ถามว่าต่างกันอย่างไร?
Goal difference หรือผลต่างประตู คือการเอาประตูที่ทำได้ กับเสียให้คู่แข่ง มาหักลบกัน
แต่ Goal average เป็นการเอาประตูที่ทำได้ มาหารโดยจำนวนประตูที่เสียให้คู่แข่ง
ปัญหามาเกิดในปี 1966 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพ ทีมสิงโตคำรามดันจบรอบแรกแบบคลีนชี้ต ไม่เสียประตูทั้งสามนัด แล้วตามหลักคณิตศาสตร์ เลขศูนย์มันหารใครอะไรไม่ได้
กลายเป็นที่มาของการเลิกใช้ไอ้กติกานี้ พร้อมกับเปลี่ยนไปใช้ผลต่างประตูได้เสียแทนในฟุตบอลโลกหนถัดมา 1970
หากนั่นยังพิศดารไม่พอ ย้อนกลับไปฟุตบอลโลก 1954 อีกครั้ง แต่คราวนี้เกิดขึ้นในรอบคัดเลือกที่เหลือเพียงสเปน กับตุรกี อยู่สองทีมหลังจากฮอลแลนด์ ขอถอนตัว
เตะกันสองนัด สเปนชนะ 4-1 ในมาดริด แต่ตุรกี เอาคืน 1-0 ที่อิสตันบุล
ผลต่างประตูได้เสียยังไม่ถูกนำมาคิด ทั้่งสองทีมต้องเตะเพลย์ออฟที่สนามเป็นกลางในกรุงโรม และหวยออกด้วยการเสมอ 2-2
สุดท้าย ฟีฟ่า ทำอย่างไร ?
เอาเด็ก 14 ขวบมาผูกผ้าปิดตาก่อนจับฉลากชื่อตุรกี ได้ไปเล่นรอบสุดท้าย
ส่วนสเปน อกหักไปตามระเบียบ…