รู้จักโรค ‘กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ’ และโอกาสในการกลับมาลงสนามของดาลีย์ บลินด์

จากข่าวที่สร้างความตื่นตะลึงอีกครั้งให้แก่วงการฟุตบอลเมื่อ ดาลีย์ บลินด์ กองหลังคนสำคัญของทีมอายักซ์ อัมสเตอร์ดัม และทีมชาติฮอลแลนด์ ออกมาเปิดเผยว่าเป็นโรคหัวใจและกำลังอยู่ในระหว่างการพักรักษาตัวซึ่งยังไม่มีกำหนดที่จะกลับมาลงสนามแต่อย่างใด
แต่จากคลิปวีดีโอที่ บลินด์ โพสต์ลงในช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง เจ้าตัวยืนยันว่าเขารู้สึกดีในเวลานี้และอยากจะกลับมาลงสนามให้เร็วที่สุด ซึ่งก็พอใจจะทำให้แฟนฟุตบอลทั่วโลก โดยเฉพาะแฟนอายักซ์ ใจชื้นขึ้นบ้างเพราะก่อนหน้านี้พวกเขาต้องเสีย “แอปปี้” อับเดลัค นูรี เจ้าหนูมหัศจรรย์ผู้โชคร้ายที่หมดสติกลางสนาม ก่อนอาการเข้าขั้นโคม่าสมองตายเพราะขาดอ๊อกซิเจนหล่อเลี้ยง กลายเป็นเจ้าชายนิทราจนถึงขณะนี้
สำหรับกรณีของบลินด์นั้น เหตุการณ์เกิดขึ้นในระหว่างเกมยูเอฟา แชมเปียนส์ ลีก นัดที่อายักซ์ พบกับบาเลนเซีย โดยดาวเตะวัย 29 ปี มีอาการแน่นหน้าอกและวิงเวียนจนไม่สามารถลงเล่นต่อได้ไหว ทำให้แพทย์ตัดสินใจส่งตัวเข้ารับการทดสอบทันทีว่าเกิดจากสาเหตุใด
ผลการตรวจพบว่าบลินด์มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือที่เรียกกันว่า cardiomyopathy ซึ่งต้องเข้ารับการรักษาด้วยการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า
ว่าแต่โรคนี้เป็นอย่างไร และเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง?
อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้นมีสาเหตุหลากหายมาก ไม่ว่าจะเกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งส่วนมากเป็นเชื้อไวรัสที่เริ่มเหมือนคนเป็นหวัดแต่เชื้อเดินทางมาที่หัวใจ หรือบางกรณีเป็นแบคทีเรีย, สารเคมีก็มีส่วนในการทำให้เกิดอาการได้, การได้รับรังสีที่ทรวงอก, การแพ้ยารุนแรง หรือความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน
ลักษณะของอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบคืออาการเหนื่อย ซึ่งเกิดจากการที่หัวใจบีบตัวแรงไม่เท่าเดิม เจ็บตรงหน้าอก เจ็บแน่นๆ เจ็บเหนื่อยๆ หรือเจ็บจี๊ดๆ หรือบางรายเจ็บมาด้วยอาการอาเจียนก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน
ฟังๆดูแล้วเหมือนเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ง่าย หลายคนอาจจะคิดว่าตัวเองเข้าข่ายเพราะเคยมีอาการมาก่อน แต่การจะยืนยันว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้นต้องตรวจอย่างละเอียดและให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยเท่านั้น ไม่ควรคิดเอาเองเด็ดขาด!
แพทย์จะมีกระบวนการตรวจหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง เช่น การตรวจเลือด, การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, การตรวจหาภาวะการทำงานบีบตัวของหัวใจที่ลดลง, การเอ็กซ์เรย์ปอด (ตรวจกล้ามเนื้ออักเสบที่อาจทำให้การบีบลดลง), การตรวจด้วยเอคโค่ หรือการอัลตราซาวด์เพื่อดูการบีบของหัวใจลดลงหรือไม่
เรื่อยไปจนถึงการตรวจดูเม็ดเลือด การตรวจค่าการทำงานของตับและไต, ตรวจเพราะเชื้อในเลือด, ตรวจความผิดปกติของภูมิคุ้มกันในร่างกาย และการตัดชิ้นเนื้อหัวใจมาตรวจ
แม้อาการของโรคนี้หากเป็นไม่มากก็ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากเป็นมากก็อาจถึงแก่ชีวิตได้
สำหรับรายของบลินด์ ไม่มีการยืนยันว่าความรุนแรงของอาการเป็นระดับไหน แต่หวังว่าเขาจะกลับมาลงสนามได้เร็วที่สุด
หรือขั้นต่ำที่สุดก็ขอให้กลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ
มาร่วมเป็นกำลังใจให้บลินด์กันนะ